วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ภัยจาก...น้ำหอม




        น้ำหอมหรือโคโลญจน์ที่คุณใช้กันอยู่นั้นล้วนมีส่วนผสมของสารเคมีสังเคราะห์ โดยสารเคมีเหล่านี้จะถูกนำมาผสมปรุงแต่งให้เป็นกลิ่นต่างๆ ซึ่งสารเคมีบางชนิดที่ใช้ในการทำน้ำหอมหรือโคโลญจน์นี้เป็นสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะน้ำหอมที่ใช้สารสังเคราะห์จำพวกปิโตรเลียม เช่นอนุพันธ์ของเบนซีนและอัลดีไฮด์ (Aldehyde), สารพทาเลท (phthalate), สารพาราเบน (paraben), หรือสารฟีนอล (phenol) ฯลฯ

        กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านสุขอนามัย Environmental Working Group (EWG) เป็นกลุ่มที่ทำงานเพื่อปกป้องผู้บริโภคจากสารเคมีอันตรายไม่ว่าจะในอาหาร น้ำ หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยครั้งนี้กลุ่ม EWG ได้ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์น้ำหอมและโคโลญจน์ ได้ยกตัวอย่างกลิ่นที่ใช้สารเคมีอันตรายปรุงแต่งเช่น กลิ่นกุหลาบ กลิ่นกุหลาบที่ใช้ในน้ำหอมไม่ใช่กลิ่นที่เกิดจากการสกัดจากดอกกุหลาบแต่อย่างใด แต่เป็นกลิ่นที่เกิดจากการปรุงแต่งจากสารเคมีหลายๆ ชนิด จากสารเคมีมากกว่า 3,100 ชนิดที่ทางโรงงานผลิตน้ำหอมเก็บไว้ มาผสมกันจนเกิดเป็นกลิ่นกุหลาบขึ้น ซึ่งส่วนผสมหรือสารเคมีที่ใช้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นกลิ่นกุหลาบนี้มักจะถูกซ่อน ไว้ไม่ให้ผู้บริโภครับรู้ ซึ่งสารเหล่าบางชนิดเป็นสารเคมีอันตรายร้ายแรง

        กลุ่ม EWG จึงได้จัดกิจกรรมการรณรงค์เรื่อง "เครื่องสำอางปลอดภัย" โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 กลุ่ม โดยทำการตรวจสอบหาสารเคมีที่ใช้ในเครื่องสำอางแต่ไม่ปรากฏบนฉลากของผลิตภัณฑ์ โดยในการรณรงค์ครั้งนี้ได้ว่าจ้างให้ห้องปฏิบัติการอิสระทำการตรวจสอบน้ำหอมชั้นนำจำนวน 17 ยี่ห้อ พบว่ามีสารเคมีไม่ทราบชนิดหรือสารเคมีลับที่ไม่ระบุอยู่ข้างบรรจุภัณฑ์มากถึง 38 ชนิด ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ชั้นนำอย่าง American Eagle Seventy Seven มีสารเคมีไม่ระบุอยู่ข้างบรรจุภัณฑ์มากถึง 24 ชนิด ตามด้วย Chanel coco มี 18 ชนิด, Britney Spears Curious และ Giorgio Armani Acqua Di Gio มี 17 ชนิด

       จากข่าวของสำนักข่าว AFP ได้รายงานผลการศึกษาของกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา (EWG) ระบุว่า เครื่องสำอางชื่อดังที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าทั่วโลก มีสารอันตรายเจือปน สามารถทำให้สตรีคลอดลูกออกมาพิการได้ สารอันตรายดังกล่าวมีชื่อว่า "พทาเลท (Phthalate)" เป็นสารเคมีที่ใช้ละลายผสมในน้ำหอมและเครื่องสำอางเพื่อทำให้น้ำหอมมีกลิ่น ติดทนนาน โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านสุขอนามัยแห่งสหรัฐอเมริกาได้นำผลิตภัณฑ์ ความงามที่วางจำหน่ายในตลาดไปทดสอบแล้วพบว่าในน้ำหอมมีสาร “ พทาเลท” เจือปนอยู่ในผลิตภัณฑ์ถึงร้อยละ 72 ในจำนวนผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบพบว่ามีเครื่องสำอางยี่ห้อดังระดับโลกหลายยี่ห้อรวมอยู่ด้วย เอ เอฟ พี ระบุว่า เครื่องสำอางที่ตรวจพบสาร “ พทาเลท” เช่น น้ำหอม poison ของ Christian Dior นอกจากนี้ ยังพบในเครื่องสำอางยี่ห้อ Calvin Klein,  Revlon และ Procter :Gamble (P&G) ในผลการศึกษาระบุว่าผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่น่าเป็นห่วงที่สุดเพราะมีสาร “ พทาเลท” อยู่ในปริมาณมาก อาทิ น้ำหอมเรดดอร์ ( Red door) ของเอลิซาเบธอาร์เดน โดยพบสาร “ พทาเลท” ในปริมาณ 28,000 ต่อ 1 ล้านส่วนของปริมาณน้ำหอม

       กลุ่ม EWG ได้ยกตัวอย่างสารเคมีอันตรายของพทาเลทในรูปอื่นๆ เช่น สารไดเอทธิล พทาเลท (diethyl phthalate) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอเมริกันมากถึง 97% และจากการศึกษาพบว่าสารนี้อาจมีผลทำให้อสุจิถูกทำลาย และและสาร musk ketone เป็นสารที่ใช้เป็นสารให้กลิ่นหอมในน้ำหอม  มีคุณสมบัติตกค้างยาวนานมากและสะสมได้ดีมากในสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน และเต้านม

       ทางด้านนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) เมืองนิวออลีน สหรัฐอเมริกา พบว่ามีน้ำหอมจำนวน 38 ชนิดที่สามารถสร้างปัญหาให้ระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด (Asthma) โดยน้ำหอมที่สร้างปัญหาให้มากที่สุดคือ ยี่ห้อ Red, Charlie, White, Diamonds, Giorgio, Opium และ Poison นอกจากนี้ยังพบสารเคมีอันตรายชนิดอื่นที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอม เช่น Acetone (C3H6O)   ใช้เป็นยาละลายสารอื่น ซึ่งเป็น “สารก่อมะเร็ง (carcinogen)" มักใส่ในน้ำยาล้างเล็บ และ Benzyl acetate เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งอีกตัวที่สร้างความระคายเคืองให้นัยน์ตาและทำให้หายใจไม่ออก

       ปัญหาของสารเคมีอันตรายที่ใช้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นกลิ่นหอมและไม่ต้องแสดงส่วนประกอบเหล่านี้บนฉลาก เนื่องจากมีช่องโหว่ขนาดใหญ่จากบทบัญญัติการแสดงฉลากที่เป็นธรรมของปี 1973 ที่ระบุว่า "รายการส่วนผสมของเครื่องสำอางที่ต้องระบุบนฉลากนั้นไม่รวมถึงกลิ่นหอมที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์" และอุตสาหกรรมเครื่องหอมทั่วโลกมีกฎหมายปกป้องความลับทางการค้าคุ้มครอง ทำให้ไม่ต้องเปิดเผยสูตรสำคัญ เพื่อเป็นความลับทางการค้า ดังนั้น อุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั้งหมดจึงไม่แสดงส่วนผสมของกลิ่นหอมที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ ทั้งๆ ที่สารที่ใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาจเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

       แต่เพื่อปกป้องและเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภค เมื่อเร็วๆ นี้เครือข่ายสุขภาพสิ่งแวดล้อมแห่งแคลิฟอร์เนียได้ยื่นฟ้องต่อองค์การอาหาร และยาสหรัฐฯ ให้ประกาศว่าน้ำหอมกลิ่น Eternity ของคาลวินไคลน์ ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคไม่ครบถ้วน โดยไม่มีฉลากเตือนว่าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่มีการทดสอบความปลอดภัยที่เพียงพอ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ของหน่วยงานอิสระพบว่ามีส่วนประกอบของสารเคมีที่อยู่ในบัญชีของเสียอันตรายซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท

       จากข้อมูลทั้งหมดนี้ถึงแม้น้ำหอมจะทำให้เราดูมีเสน่ห์ เสริมสร้างความมั่นใจ แต่ก็โทษมากมายเช่นกัน การเลือกใช้น้ำหอมนั้นไม่ว่าน้ำหอมนั้นจะมีราคาถูกหรือแพง จะเป็นหัวน้ำหอมแท้หรือน้ำหอมที่ได้รับการเจือจางแล้วก็ตาม ก็ต้องจะพิจารณาก่อนที่จะเลือกซื้อเพื่อให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป และไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นแล้วเวลาที่ใช้น้ำหอมควรคิดถึงคนรอบข้างด้วย เช่น คำนึงถึงคนรอบตัวที่แพ้น้ำหอม หากเราใช้กลิ่นที่ฉุนหรือใส่ปริมาณมากเกินไป อาจทำให้คนเหล่านั้นเกิดอาการจามเนื่องจากการแพ้ได้

ที่มา  :  http://www.vcharkarn.com/varticle/44159

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น