วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตำนาน โป๊ยเซียน

เซียนองค์ที่ 1 - หลีทิก๊วย 

เซียนองค์ที่ 2 - ฮั่นเจ็งหลี 

เซียนองค์ที่ 3 - ลื่อทงปิน 

เซียนองค์ที่ 4 - เตียกั๊วเล้า 

เซียนองค์ที่ 5 - น่าไช่ฮั้ว 

เซียนองค์ที่ 6 - ฮ่อเซียนโกว 

เซียนองค์ที่ 7 - ฮั่นเซียงจือ 

เซียนองค์ที่ 8 - เช่าก๊กกู๋



ฮั่นเจ็งหลี เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 340 ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นบุตรของเจ้าเมืองหุนตัง เดิมมีชื่อว่า เจ็งหลีกั๊ก ต่อมาได้เป็นแม่ทัพของกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น ได้ยกทัพไปรบกับ ปุดยู้ แม่ทัพโทวฮวน และได้ฆ่าฟันข้าศึกล้มตายเป็นจำนวนมาก หลีทิก๊วยเซียนองค์ที่หนึ่งเล็งด้วยญาณรู้ว่า เจ็งหลีกั๊กเดิมเป็นเซียนรักษาหอสมุดบนสวรรค์ แต่ได้ทำความผิดฐานทำหนังสือประวัติโหงวแป๊ะเซียน (เซียนห้าร้อยองค์) หาย จึงถูกลงโทษให้มาเกิดบนโลกมนุษย์ หลีทิก๊วยจึงคิดช่วยเจ็งหลีกั๊กให้ได้กลับเป็นเซียน จึงแนะอุบายให้ปุดยู้ใช้ทหารหญิงปลอมตัวไปส่งเสบียงให้ทหารของเจ็งหลีกั๊ก ทหารหญิงพวกนี้ได้มอมสุราทหารเจ็งหลีกั๊กจนเมามาย แล้วยกทัพเข้าตีทัพเจ็งหลีกั๊กจนแตกทัพ แต่เจ็งหลีกั๊กหนีรอดไปได้ และได้พบกับอาจารย์ ตังหัวจินหยิน อาจารย์ตังหัวจินหยินได้สอนธรรมะรวมทั้งสอนวิธีใช้ไฟธาตุในร่างกายหลอมสิ่งของต่างๆ ให้กลายเป็นทองและให้กั้นหยั่นวิเศษแก่เจ็งหลีกั๊ก ต่อมาเจ็งหลีกั๊กได้ลาอาจารย์เดินทางกลับบ้าน อาจารย์ตังหัวจินหยินได้บอกกับเจ็งหลีกั๊กว่าวันหนึ่งจะกลับไปเป็นศิษย์ เมื่อได้พบกับพี่ชายชื่อ เจ็งหลีกั้ง เจ็งหลีกั๊ก จึงชวนพี่ชายออกบำเพ็ญตบะ ได้ช่วยชาวบ้านฆ่าเสือและหลอมก้อนกรวดให้เป็นทองเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากจน ต่อมาวันหนึ่งหลีทิก๊วยได้มารับเจ็งหลีกั๊กไปเป็นเซียนองค์ที่สองของสำนักหลีเล่ากุน และให้ชื่อว่า ฮั่นเจ็งหลี เซียนฮั่นเจ็งหลีได้นำมนต์ใช้ไฟธาตุในตัวและกั้นหยั่นวิเศษมอบให้กับอาจารย์ ฮวยเหล็งจินหยิน เพื่อฝากคืนให้แก่อาจารย์ตังหัวจินหยิน ผู้ใดปรารถนาจะให้ตนมีความกล้าหาญ เข้มแข็ง เอาชนะศัตรูได้ พึงจุดธูปเทียนบูชาและอธิษฐานถึง เซียนฮั่นเจ็งหลี


ลื่อทงปินเกิดเมื่อ พ.ศ. 1341 ในราชวงศ์ถัง เป็นบุตรของเจ้าเมืองไฮจิ่ว ในอดีตชาติเป็นอาจารย์ ตังหัวจินหยิน ที่กลับชาติมาเกิด วันหนึ่งได้ออกเที่ยวป่าและได้พบกับอาจารย์ ฮวยเหล็งจินหยิน อาจารย์ฮวยเหล็งจินหยินทราบว่าลื่อทงปินคืออาจารย์ตังหัวจินหยินที่กลับชาติมาเกิด จึงได้สอนการบำเพ็ญธรรมและวิชาใช้ไฟธาตุหลอมสิ่งของต่างๆ ให้กลายเป็นทอง พร้อมทั้งได้มอบกั้นหยั่น วิเศษที่ ฮั่นเจ็งหลี ฝากไว้ให้ ต่อมาลื่อทงปินได้ออกช่วยเหลือประชาชนฆ่ามังกรยักษ์ด้วยกั้นหยั่นวิเศษ และได้ปลอมตัวเป็นคนหาบน้ำมันขาย ผู้ใดที่ซื้อน้ำมันแล้วไม่ขอแถมก็จะอุปถัมภ์ ปรากฏว่ามีหญิงชรามาขอซื้อน้ำมันแล้วไม่ขอแถมอีกทั้งยังเอื้อเฟื้อให้อาหารแก่ลื่อทงปิน ลื่อทงปินจึงเอาข้าวสุกโปรยลงในบ่อน้ำและเสกให้เป็นสุราอย่างดีให้หญิงชราและลูกชายขายจนร่ำรวย วันหนึ่งลื่อทงปินไปกินอาหารร้านนางซินสี และไม่ได้จ่ายเงินอยู่ 4 วัน นางซินสีก็ไม่ทวงถาม ลื่อทงปินจึงเอาเปลือกส้มมาเสก เป็นนกกระเรียนติดไว้กับผนังร้าน เพื่อให้นางซินสีเรียกนกกระเรียน มาเต้นรำให้ผู้กินอาหารดู ทำให้มีผู้มากินอาหารมากมายจนนางซินสีร่ำรวย ต่อมาลื่อทงปินไปสอบเป็นขุนนางได้ชั้นจิ้นลือ อยู่มาวันหนึ่งได้พบกับฮั่นเจ็งหลีเซียนองค์ที่สอง ฮั่นเจ็งหลีจึงชวนไป บำเพ็ญตบะที่ภูเขาเฮาะฮง ลื่อทงปินรับคำแล้วลาออกจากขุนนาง แล้วเดินทางแวะไปหาหญิงชราและลูกชายที่เคยเสกน้ำในบ่อให้เป็นสุรา ลูกชายหญิงชราพูดจายโสไม่ให้ความเคารพ ลื่อทงปินจึง เรียกเอาเมล็ดข้าวขึ้นมา ทำให้สุราในบ่อกลายจึงเป็นน้ำตามเดิม จากนั้นได้แวะไปหานางซินสี นางซินสีได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ลื่อทงปินได้ขอนกกระเรียนจากผนังร้านคืนและบอกนางซินสีว่า ถ้าอยากร่ำรวยก็ให้จุดธูปบูชาถึงตน จากนั้นก็ขี่นกกระเรียนไปเป็นเซียนองค์ที่สาม ถ้าผู้ใดปรารถนาให้ค้าขายมีกำไรร่ำรวยเป็นเศรษฐี พึงจุดธูปและอธิษฐานถึง เซียนลื่อทงปิน


เตียกั๊วเล้า เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 1170–1226 ในสมัยพระนางบูเช็กเทียน และพระเจ้าเม่งจงฮ่องเต้ กำเนิดเดิมเป็นค้างคาวเผือก ได้อาบแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ และจำศีลภาวนาหลายพันปีจึง กลายเป็นมนุษย์ มีลาเผือกเป็นพาหนะ แต่จะขี่ลาหันหน้าไปข้างหลัง แม้เตียกั๊วเล้าจะมีอายุมากกว่าร้อยปีแล้วแต่ก็ยังดูหนุ่มแน่นเมื่อพระนางบูเช็กเทียนทรงทราบ จึงทรงให้นางข้าหลวงไปเชิญ เตียกั๊วเล้าเข้าวัง แต่เตียกั๊วเล้าแกล้งทำเป็นลมชักสลบไป มีหนอนขึ้นตาม จมูก ปาก และหู ทำให้ทุกคนเชื่อว่าตายไปแล้วแต่ต่อมาศพก็ได้หายไป จนกระทั่งในสมัยของพระเจ้าเม่งจงฮ่องเต้ ได้ทรงให้ข้าหลวงไปเชิญเตียกั๊วเล้าเข้าเฝ้า เตียกั๊วเล้าก็แกล้งทำเป็นตายอีก พวกข้าหลวงได้พร่ำอ้อนวอนจนเตียกั๊วเล้าใจอ่อน จึงฟื้นขึ้นและยอมเข้าวัง พระเจ้าเม่งจงฮ่องเต้ให้การต้อนรับเป็น อย่างดี ต่อมาเตียกั๊วเล้าเบื่อหน่ายที่จะอยู่ในราชวัง จึงทูลพระเจ้าเม่งจงขอกลับไปอยู่ตามป่าเขา พระเจ้าเม่งจงฮ่องเต้ก็ทรงอนุญาตและทรงพระราชทานสิ่งของและจัดรถลากให้ โดยมีคนลากคนหนึ่ง และคนเข็นหลังรถอีกคนหนึ่ง เมื่อเดินทางถึงเมืองเฮ่งจิว เตียกั๊วเล้าก็ให้คนทั้งสองกลับไปแต่ หลีแซ ไม่ยอมกลับ และมีความเลื่อมใสในตัวของเตียกั๊วเล้า จึงขอเป็นศิษย์ติดตามรับใช้ ถือศีลกินเจ เรียนมนต์คาถาและศึกษาธรรมจากเตียกั๊วเล้า วันหนึ่งหลีแซได้มากราบทูลพระเจ้าเม่งจงว่าเตียกั๊วเล้าเป็นไข้ป่าตายเสียแล้ว จึงรับสั่งให้จัดโลงศพทองคำพร้อมกับทำฮวงซุ้ยบรรจุศพอย่างดี แต่พอเปิดโลงศพออกไม่พบศพ มีแต่กระดาษเขียนทูลลาว่าต้องไปเป็นเซียนองค์ที่สี่ ผู้ที่ปรารถนาให้ตนมีเสน่ห์และเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนทั้งหลายให้จุดธูปบูชา และให้อธิษฐานถึงเซียน เตียกั๊วเล้า


ตามตำนานเล่าว่า น่าไช่ฮั้ว เป็นวณิพกเที่ยวร้องเพลงขอทานไปตามหมู่บ้าน มีเครื่องแต่งกายคร่ำคร่าอยู่ 2 ชุด ชุดหนึ่งหนาใช้ใส่ในฤดูร้อน ส่วนอีกชุดหนึ่งบางใช้ใส่ในฤดูหนาว ซึ่งผิดกับ คนธรรมดาทั่วๆ ไป และมีกรับอันหนึ่งยาวสามฟุตใช้ขยับให้จังหวะขณะร้องเพลง อยู่มาวันหนึ่งน่าไช่ฮั้วได้ตีกรับร้องเพลงไปตามหมู่บ้าน จนเผลอหลงเข้าไปในป่าหาทางกลับไม่ถูก พอพลบค่ำ น่าไช่ฮั้วได้หาที่นอนบริเวณเชิงเขา ครั้นถึงเวลายามเศษก็แว่วเสียงดุริยางค์มาจากท้องฟ้า น่าไช่ฮั้วจึงแหงนขึ้นดู ก็เห็นเซียนหลายองค์นั่งอยู่ในกลุ่มก้อนเมฆ มีเซียนองค์หนึ่งได้ร้องบอกให้ น่าไช่ฮั้วอย่ามัวเที่ยวขอทานอยู่เลย ให้ตั้งหน้าตั้งตารักษาศีล ท่องมนต์ บำเพ็ญเพียรญาณตบะให้มั่นคง อีกสามวันแห่งสวรรค์หรือสามปีในโลกมนุษย์จะมารับไปเป็นเซียน และมอบคัมภีร์ให ้น่าไซ่ฮั้วได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมภาวนามนต์ตามคัมภีร์จนจบ มีคนมาฝากตัวเป็นศิษย์มากมาย ในคืนวันเดือนเพ็ญคืนหนึ่งขณะที่น่าไซ่ฮั้วนั่งสนทนากับศิษย์จำนวนร้อยแปดคนในถ้ำก็ แว่วเสียงดุริยางค์สังคีตล่องลอยมาจากท้องฟ้า น่าไช่ฮั้วก็ทราบโดยทันทีว่า หลีทิก๊วย มารับตนไปเป็นเซียนแล้ว น่าไช่ฮั้วจึงบอกศิษย์ทุกคนจงตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรม แล้วน่าไช่ฮั้วก็เสกกรับของตนให้เป็นนกกระเรียน แล้วให้นกกระเรียนสลัดขนไว้ร้อยแปดอันเสกเป็นกำไรมือพร้อมกับให้ศิษย์เก็บไว้คนละอัน กำไรมือจะช่วยป้องกันอันตรายเว้นแต่ ผู้ไม่สุจริตเท่านั้น หลังจากนั้นน่าไซ่ฮั้วก็ขึ้นขี่นกกระเรียนตามหลีทิก๊วยไปเป็นเซียนองค์ที่ห้า ผู้ใดปรารถนาให้ตนได้เป็น ศิลปินที่มีผู้คนนิยม พึงจุดธูปบูชาและอธิษฐานถึง เซียนน่าไช่ฮั้ว


ฮ่อเซียนโกว เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 1233 ในราชวงศ์ถัง เป็นบุตรีของ ฮ่อซู เดิมมีชื่อว่า ฮ่อสี อยู่ที่เมืองกวางตุ้ง เป็นคนมีรูปร่างอ้วน ขี้ริ้วขี้เหร่ แต่เป็นคนใจบุญ มีความประพฤติเรียบร้อย และจิตใจฝักใฝ่ในพระธรรม คืนวันหนึ่งมีเทวดามาเข้าฝันให้นางหาแป้งฮุ่นบ๊อมารับประทานแล้วนางจะมีรูปร่างงดงาม ไม่เจ็บป่วย ไม่แก่ เมื่อตื่นขึ้นจึงให้คนไปหาแป้งฮุ่นบ๊อมารับประทาน จนกระทั่งร่างกายของนางมีความสวยงามดุจเทพธิดา วันหนึ่งในขณะที่นางฮ่อสีเดินเล่นมาจนถึงชายหาดริมแม่น้ำหุ้นห้อเกย นางก็ได้พบ หลีทิก๊วย และ น่าไช่ฮั้ว นั่งสนทนาธรรมกันอยู่ที่ศาลา นางจึงเข้าไปกราบขอร่วมฟังการสนทนาธรรมด้วย เนื่องจากนางมีใจฝักใฝ่ในพระธรรมอยู่แล้วจึงได้มอบตัวเป็นศิษย์ หลีทิก๊วยได้มอบคัมภีร์วิชาเซียนให้กับนางได้ใช้เป็นแนวทางในการฝึก ปฏิบัติบำเพ็ญตบะ หลังจากที่นางได้เรียนวิชาเซียนจบแล้วจึงบอกบิดามารดาว่าต่อไปจะต้องไปเป็นเซียน ต่อมาในคืนวันเพ็ญเดือนหก ขณะที่นางนั่งสวดมนต์อยู่ก็แว่วเสียงดุริยางค์สังคีต ล่องลอยมาจากอากาศ นางก็ทราบได้ทันทีว่าหลีทิก๊วยมารับไปเป็นเซียน นางจึงรีบปลุกบิดามารดาให้ลุกขึ้น แล้วจุดธูปบูชาเซียน จากนั้นนางก็ร่ำลาบิดามารดา และบอกว่าหลีทิก๊วยมารับ ไปเป็นเซียน เมื่อหลีทิก๊วยขี่เมฆล่องลอยมาถึงก็บอกให้นางฮ่อสีเสกคัมภีร์ให้เป็นนกกระเรียน ขึ้นขี่นกกระเรียนตามหลีทิก๊วยไป เมื่อถึงเขาฮั่วซัว หลีเล่ากุน อาจารย์ใหญ่ก็ออกมาต้อนรับ และจัดให้เป็นเซียนองค์ที่หก ผู้ใดปรารถนาให้ตนมีอายุยืนนาน มีรูปร่างสวยงาม มีสติปัญญาดี พึงจุดธูปเทียนบูชา และอธิษฐานถึง เซียนฮ่อเซียนโกว


ฮั่นเซียงจือ เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 1503 ในสมัย พระเจ้าเต็กจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์ถัง เป็นหลานของ ฮั่นหยู ซึ่งรับราชการเป็นปลัดกระทรวงวัง ฮั่นเซียงจือมีความสนใจผู้วิเศษ จึงได้ออก สืบเสาะค้นหาจนกระทั่งได้พบเซียน ลื่อทงปิน เซียนองค์ที่ 3 จึงได้ศึกษาวิชาเซียนและบำเพ็ญตบะอยู่สามปี หลังจากนั้นฮั่นเซียงจือก็ลาอาจารย์เดินทางกลับบ้าน ในระหว่างทางได้พบต้นท้อ ออกลูกสุกแดงจึงปีนขึ้นไปเก็บ แต่เหยียบกิ่งท้อหักพลาดตกลงมาสลบไปครั้นพอฟื้นขึ้นมาก็กลายเป็นเซียน ต่อมาในเมืองหลวงเกิดฝนแล้ง พระเจ้าเต็กจงฮ่องเต้จึงให้ฮั่นหยูซึ่งเป็นอาของ ฮั่นเซียงจือทำพิธีของฝน ถ้าฝนไม่ตกภายในเจ็ดวัน ก็จะถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าฝนตกในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็จะเลื่อนตำแหน่งให้เป็นเสนาบดี ฮั่นหยูได้ทำพิธีอยู่หกวันฝนก็ไม่ตก ฮั่นเซียงจือจึงปลอมตัวเป็นโยคีมาช่วย โดยฮั่นหยูให้สัญญาว่าถ้าทำให้ฝนตกได้จะยกทรัพย์สมบัติให้ทั้งหมด ฮั่นเซียงจือจึงได้นั่งบริกรรมสวดมนต์ขอฝนจนกระทั่งฝนตกใหญ่สามวันสามคืน แต่ฮั่นหยูกลับไม่ยอมยกทรัพย์สินให้ฮั่นเซียงจือตามที่สัญญาเอาไว้ ฮั่นเซียงจือจึงคืนร่างจากโยคีไปเป็นเซียนและบอกกับฮั่นหยูว่าตนไม่ต้องการทรัพย์สินใดๆ เพียงแต่จะลองใจดูเท่านั้น ต่อมาฮั่นหยูประสบชะตากรรมถูกถอดยศและริบทรัพย์สิน สักหน้าแล้วถูกเนรเทศให้ไปอยู่ชายแดน ฮั่นหยูไปที่แห่งใดก็ไม่มีใครต้อนรับ มีแต่ความลำบากหิวโหย ฮั่นเซียงจือจึงบอกให้ ฮั่นหยูไปบำเพ็ญพรตถือศีล ส่วนฮั่นเซียงจือได้ไปเขาฮั่วซัวสำนักหลีเล่ากุนเป็นเซียนองค์ที่เจ็ด ผู้ใดปรารถนาให้ตนเป็นนักประพันธ์และนักกวีที่มีชื่อเสียง พึงจุดธูปบูชาอธิษฐานถึง เซียนฮั่นเซียงจือ


เช่าก๊กกู๋ เกิดในสมัยราชวงศ์ซ้อง เป็นน้องชายของ พระนางเช่าสีฮองไทเฮา เช่าก๊กกู๋เป็นคนที่มีความประพฤติดีงาม ส่วนน้องชายของเช่าก๊กกู๋ชื่อ เช่ายี่ เป็นคนเกเร เที่ยวลักขโมยและข่มเหง ชาวบ้าน เพราะถือตัวว่าเป็นน้องชายของฮองไทเฮา เช่าก๊กกู๋พยายามสั่งสอนว่ากล่าวก็ไม่เชื่อฟัง เช่าก๊กกู๋จึงคิดจะหลีกหนีไปเสีย ประกอบกับมีใจฝักใฝ่พระธรรมอยู่แล้ว จึงได้ทูลลาฮองไทเฮา ออกท่องเที่ยวตามป่าเขาและบำเพ็ญตบะอยู่ตามถ้ำ ฝ่ายอาจารย์ หลีเล่ากุน เล็งญาณรู้ว่าเช่าก๊กกู๋บำเพ็ญตบะอยู่ในถ้ำหลายปีแล้ว ควรเชิญมาเป็นเซียนเพื่อให้ครบแปดองค์ จึงให้ ฮั่นเจ็งหลี และ ลื่อท่งปิน ไปรับเช่าก๊กกู๋ พร้อมกับเชิญ หลีทิก๊วย เตียกั๊วเล้า น่าไช่ฮั้ว ฮ่อเซียนโกว และ ฮั่นเซียงจือ ให้มาประชุมพร้อมกันเพื่อคอยต้อนรับเช่าก๊กกู๋ ในขณะที่หลีเล่ากุนกับเซียนทั้งปวง กำลังประชุมกันอยู่ที่เขาฮั่วซัวนั้น ฮั่นเจ็งหลีกับลื่อทงปินได้พาเช่าก๊กกู๋มาถึงเซียนทั้งปวงจึงพากันออกมาต้อนรับ หลีเล่ากุนได้กล่าวว่า ถึงแม้เช่าก๊กกู๋จะเป็นเชื้อพระวงศ์พรั่งพร้อมด้วย วาสนาและทรัพย์สมบัติยังสู้สละความสุขสบายมาถือสันโดษบำเพ็ญตบะจึงสมควรได้เป็นเซียนองค์ที่แปด ผู้ใดปรารถนามิให้ภูตผี พาลมากล้ำกลายรบกวน พึงจุดธูปบูชา และให้อธิษฐานถึง เซียนเช่าก๊กกู๋

ที่มา  http://tewaboocha.tarad.com/webboard_782758_40694_th?lang=th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น